top of page

บทบาทนักเทคโนโลยีการศึกษา กับการพัฒนาการเรียนการสอน

ท่านปรมาจารย์ด้านเทคโนโลยีการศึกษา รศ.ดร.เปรื่อง  กุมุท ได้กล่าวไว้ว่า

"การสอนในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ ต้องสอนวิธีหาความรู้

เพราะเนื้อหามากมายเหลือคณานับครูไม่สามารถสอนได้หมด

จึงต้องเป็นทั้งผู้ให้ความรู้ ผู้ให้เครื่องมือในการแสวงหาความรู้

และผู้จุดไฟแห่งการเรียนรู้

นอกจากนี้ยังต้องมีความเป็นนักเทคโนโลยีสารสนเทศติดตามความก้าวหน้าในเทคนิควิธีการสอนใหม่ๆ ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อและ

ที่สำคัญต้องเป็นนักจิตวิทยาการเรียนรู้ชั้นเลิศ

เพราะมิฉะนั้นจะ "เพลิน" ให้ความสำคัญกับ

เทคโนโลยีประเภทสื่อหรือเครื่องมือสมัยใหม่

จนลืมนึกถึงผู้เรียนว่าเขาจะเรียนรู้ได้อย่างไร

และเรียนรู้อย่างเป็นสุขได้อย่างไร"

นักเทคโนโลยีการศึกษาพึงตระหนักถึงบทบาทที่แท้จริงของตน คือ เป็นผู้ใช้วิธีการระบบ (Systems Approach) บริหาร สร้างนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีการศึกษาแก้ปัญหาการศึกษา การเรียนการสอน ด้วยการจัดระบบ วางแผนพัฒนาระบบใหม่หรือปรับปรุงระบบเดิมที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพขึ้น ออกแบบระบบการสอน เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสามารถให้คำแนะนำบุคคลอื่นได้อย่างถูกต้อง
สร้างสภาพแวดล้อมทางการเรียนและแหล่งเรียนรู้ที่เหมาะสมทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้ตามวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ผลงานของนักเทคโนโลยีการศึกษาจะต้องสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อพื้นฐานที่รองรับการสร้างนวัตกรรมการศึกษา ในเรื่องต่อไปนี้

เชื่อเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล

(Individual Difference)

 

ดังนั้นการสร้างสภาพแวดล้อมและกิจกรรมการเรียนรู้ต้องสนองความแตกต่างของผู้เรียนแต่ละบุคคลให้ได้มากที่สุด 

เชื่อเรื่องความพร้อม

(Readiness)

 

ผู้เรียนจะเรียนรู้ได้เมื่อเขาเกิดความพร้อม

 

ดังนั้นจึงต้องสร้างความพร้อมด้วยกระบวนการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามศักยภาพพัฒนาเป็นขั้นเป็นตอนจากฐานเดิมที่มี จนสามารถเชื่อมโยงเรียนรู้สิ่งใหม่ที่ต้องการสอนได้

เชื่อเรื่องการใช้เวลา

(Unit of Time)

 

เมื่อมนุษย์มีความแตกต่างกัน การเรียนรู้ของแต่ ละคนจึงมีรูปแบบและใช้เวลาต่างกัน

 

ดังนั้นต้องให้ผู้เรียนแต่ละคนใช้เวลาอย่างเหมาะสมสำหรับเรียนรู้เพื่อใช้เวลาให้เหมาะสมคุ้มค่า

ความเชื่อทั้ง 3 ประการนี้จะอยู่ในความคิดเบื้องหลังรองรับการสร้างนวัตกรรมการศึกษา

นอกจากนี้ยังมีสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการสร้างสถานการณ์ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตามหลักจิตวิทยาการเรียนรู้ ทั้ง 4 สถานการณ์

1. การให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมอย่างจริงจังในกระบวนการการเรียน (Active Participation) การออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนที่ผู้เรียนมี     ส่วนร่วมจะทำให้เกิดความสนใจจดจ่ออยากเรียนมากกว่าการเรียนที่ต้องนั่งฟังเท่านั้น

2. การให้ผู้เรียนเรียนรู้ไปทีละขั้นตอนย่อยๆ ตามลำดับที่เหมาะสม (Gradual Approximation) การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้
    ต้องวิเคราะห์เนื้อหาและจัดลำดับการเรียนรู้จากเนื้อหาเป็นขั้นตอนให้ถูกต้องเหมาะสมกับผู้เรียน

3. การให้ผู้เรียนได้รับทราบผลทันทีทันใด (Immediately Feedback) การตอบสนองให้ผู้เรียนได้ทราบผลการกระทำอย่างรวดเร็วทันที         ทันใดจะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้สูงกว่าการทิ้งระยะห่างจากการกระทำกับการรับทราบผล

4. การให้การเสริมแรงด้วยประสบการณ์แห่งความสำเร็จ (Successful Experience) การให้การเสริมแรงด้วยวิธีการใดในระดับที่เหมาะสม       เช่น คำชมเชย รางวัล จะสร้างความประทับใจต่อผู้เรียนและส่งผลให้เกิดความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ต่อไป

จากที่ได้กล่าวมาจะเห็นได้ว่าปัจจบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มีเทคนิควิธีการที่สามารถทำให้เกิดสถานการณ์ที่พึงประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นักเทคโนโลยีการศึกษาจึงจำเป็นต้องศึกษาพฤติกรรมการเรียนรู้แล้วนำมาออกแบบให้ผู้เรียนได้เรียนรู้แล้วจึงใช้เทคนิคให้เป็นไปตามพฤติกรรมการเรียนรู้อย่างถูกต้องเหมาะสม ยกตัวอย่างบทเรียนคอมพิวเตอร์โดยเทคนิคคอมพิวเตอร์ผู้เรียนสามารถไปเลือกเรียนเนื้อหาใดๆ ได้หมด ทั้งที่ในความเป็นจริงบางเนื้อหาต้องเรียนตามลำดับบางเนื้อหาเลือกเรียนได้ จึงต้องคำนึงถึงการกำหนดขั้นตอนให้เหมาะสม

© 2016 created by Ms.Praewpun Petprom Burapha University, Chonburi, Thailand

bottom of page