บทบาทนักเทคโนโลยีการศึกษาในฐานะนักออกแบบและพัฒนาระบบการศึกษา
ในสภาวะที่เกิดปัญหาด้านระบบการศึกษา นักเทคโนโลยีการศึกษาเป็นนักระบบจึงควรได้รับภารกิจในการวางแผนออกแบบและพัฒนาระบบการศึกษาให้ดำเนินไปสู่ความสำเร็จตามวัตถุประสงค์เกิดประโยชน์สูงสุดและใช้ทรัพยากรที่มีอยุ่อย่างเหมาะสม บทบาทนี้ทั้งสังคมและตัวนักเทคโนโลยีการศึกษาได้มองข้ามไป ภารกิจการออกแบบและพัฒนาระบบการศึกษาจึงเป็นหน้าที่ผูกขาดของนักบริหารซึ่งมองแต่เรื่องการบริหารจัดการเพียงอย่างเดียว นักเทคโนโลยีการศึกษาไม่เคยได้มีบทบาทใดๆ ทั้งๆ ที่ในอดีตเราเคยกล่าวว่า การศึกษาจะประสบความสำเร็จด้วยเสาหลัก 3 เสา คือ วิชาการ บริหาร และเทคโนโลยีการศึกษา ปัจจุบันเราให้ความสำคัญกับการบริหารและวิชาการเท่านั้น ดังนั้นจึงต้องพัฒนาศักยภาพและผลักดันให้นักเทคโนโลยีการศึกษาเข้าไปมีบทบาทในการพัฒนาระบบการศึกษา สำหรับนักเทคโนโลยีการศึกษามีแนวทางการออกแบบระบบการศึกษา โดยดำเนินการตามขั้นตอนทั้ง 9 ขั้นดังนี้
ขั้นตอนที่ 1
ศึกษาแนวคิดพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น แผนนโยบายการศึกษาระดับชาติ ระดับท้องถิ่น สภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง
ขั้นตอนที่ 2
กำหนดวัตถุประสงค์ของระบบ ให้ตรงตามประเด็นปัญหา และสามารถวัดประเมินผลลัพธ์ และผลย้อนกลับได้ง่ายและชัดเจน สอดคล้องกับความต้องการของสังคมและกลุ่มเป้าหมาย
ขั้นตอนที่ 3
กำหนดประเด็นปัญหา ศึกษาระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ รวบรวมปัญหาที่เป็นอุปสรรค ทำให้ไม่บรรลุเป้าหมาย ปัจจัยนำเข้าที่เป็นทรัพยากรเปลี่ยนไปหรือความต้องการของสังคมเปลี่ยนไป ต้องวิเคราะห์และจัดลำดับความสำคัญของปัญหา ทั้งนี้ควรได้รับข้อมูลที่ถูกต้องกว้างขวางจากบุคคลฝ่ายต่างๆ ที่เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ ด้วย
ขั้นตอนที่ 4
กำหนดปัจจัยนำเข้า พิจารณาทรัพยากรทั้งในระบบ นอกระบบการศึกษา ทั้งเงิน คน วัสดุ และการจัดการ ตลอดจนค่านิยม ศิลปวัฒนธรรมเพื่อจัดเข้าเป็นปัจจัยนำเข้าของระบบ
ขั้นตอนที่ 5
กำหนดกระบวนการ เลือกแนวทางที่พิจารณาว่าดีที่สุด เข้าใจง่าย ชัดเจน สามารถ ปฏิบัติได้จริง และบรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด
ขั้นตอนที่ 6
กำหนดการประเมินผลและผลย้อนกลับ ต้องประเมินตามวัตถุประสงค์ของระบบที่กำหนดไว้ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ตลอดจนความรู้ความสามารถ ปัญญา ร่างกาย
และจิตวิญญาณของคน การออกแบบเครื่องมือวัดประเมินนี้ต้องเหมาะสมชัดเจนและเที่ยงตรง
ขั้นตอนที่ 7
กำหนดรูปแบบทางเลือกของระบบ กำหนดรูปแบบระบบที่เหมาะสมสามารถถ่ายทอดความคิดให้ผู้ใช้ระบบทุกระดับเข้าใจและนำไปปรับใช้ได้อย่างถูกต้องชัดเจน
ขั้นตอนที่ 8
เขียนแบบจำลองระบบ เพื่อให้เป็นรูปธรรมให้เข้าใจตรงกันระหว่างผู้ออกแบบระบบกับผู้จัดและผู้ใช้ระบบ ต้องสร้างเป็นแบบจำลองระบบ (System Model) โดยสร้างแบบจำลองสัญลักษณ์ หรือ แบบจำลองแนวคิดที่ชัดเจน
ขั้นตอนที่ 9
การทดสอบแบบจำลองระบบ เพื่อความแน่ใจในประสิทธิภาพของระบบจะต้องได้รับการทดสอบทดลองระบบให้เห็นผลและหาข้อมูลย้อนกลับเพื่อปรับปรุงระบบก่อนนำเสนอ เนื่องจากระบบเกี่ยวข้องกับบุคคล ทรัพยากรจำนวนมาก การทดสอบระบบจึงทำการทดสอบในสถานการณ์จำลองที่ใกล้เคียงกับความจริง เพื่อไม่ให้สิ้นเปลือง
