top of page

เทคโนโลยีการเรียนการสอนในยุคสารสนเทศ

เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีนำข่าวสารข้อมูลไปสู่คนได้เร็วและมากจนแทบจะกล่าวได้ว่า คนกำลังจะสำลักข่าวสารอยู่แล้ว คนในยุคใหม่ในวิถีแห่งการรับข่าวสารข้อมูลมีทางเลือกมากมายในการรับรู้ ไม่ว่าจะเป็นเคเบิลทีวี และจานดาวเทียมที่นำเอาสัญญาณโทรทัศน์นับร้อยช่องมาให้ ยังมีการส่งข่าวสารผ่านคอมพิวเตอร์ แฟกซ์ วิทยุติดตามตัว และอื่นๆ อีกมากมาย เทคโนโลยีสารสนเทศหลายรูปแบบได้เข้ามามีบทบาทและอิทธิพลต่อวิถีการทำงาน และการดำรงชีวิตของตนในสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ยุคสารสนเทศจึงเป็นยุคที่บุคคลมีเสรีภาพและพลังอำนาจในการกำหนดวิถีชีวิตของคนได้มากขึ้น มีเสรีภาพในการเลือกรับข่าวสารจากสื่อที่เหมาะสมกับรูปแบบชีวิตและสอดคล้องกับรสนิยมของตนได้มากขึ้น เพียงแต่ว่าเขาจะต้องมีหลักความคิด รู้จักไตร่ตรอง และเลือกสรรแต่สิ่งที่มีคุณค่าแก่ตนเองและสังคมอย่างแท้จริง กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ สังคมยุคข่าวสารก็คือสังคมแห่งภูมิปัญญา

ในวิถีทางการศึกษาและการเรียนรู้ก็เช่นเดียวกัน เราเริ่มเข้าสู่ยุคแห่งการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้สิ่งต่างๆ อย่างเข้มข้นขึ้นทุกที

ไทยเราและอีกหลายประเทศเริ่มมีการพัฒนาการเรียนการสอนผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์อินเทอร์เนต ทบวงมหาวิทยาลัยของเราก็กำลังผลักดันการสร้างวิทยาเขตสารสนเทศที่ริเริ่มโดยมหาวิทยาลัยก่อน ด้วยการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม ปัจจุบันการเรียนทางไกลแบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ หรือการเรียนด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่รับภาพจากห้องส่งที่อยู่ห่างไกล โดยที่ผู้บรรยายหรือวิทยากรกับ

ผู้เรียนสามารถโต้ตอบกันได้นั้น ได้ทำให้ผู้สอนดีๆ สอนผู้เรียนได้ไม่จำกัดจำนวนและสถานที่ เทคโนโลยีสามารถทำให้ผู้เรียนซึ่งนั่ง

อยู่คนละวิทยาเขต สามารถรับรู้ และมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้ ศูนย์การศึกษาทางไกลไทคมของกรมการศึกษานอกโรงเรียนร่วมกับมูลนิธิไทคมได้ทดลองจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมมาตั้งแต่ปี 2537 โดยมีสถานศึกษามาสมัครเข้าเป็นสมาชิกในโครงการเป็นจำนวนมาก เริ่มจากระบบการสอนทางเดียวในระยะเริ่มแรก ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระยะทดสอบระบบสื่อสารสองทางอยู่ สำหรับอุดมศึกษา ทบวงมหาวิทยาลัยจะตั้งวิทยาเขตสารสนเทศใช้การเรียนผ่านคอมพิวเตอร์และดาวเทียมเป็นหลัก ซึ่งตามแผนที่กำหนดไว้จะให้

30 จังหวัดทั่วประเทศในปี พ.ศ.2541

แหล่งความรู้ ข่าวสาร ข้อมูล และประสบการณ์ต่างๆ มีความสำคัญต่อสังคมยุคข่าวสารเพียงใดก็ย่อมมีความสำคัญต่อการศึกษาและต่อการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาเพียงนั้น เรามักเรียกแหล่งความรู้หรือแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้นี้หลายอย่าง แล้วแต่ความครอบคลุม ความประสงค์ ภารกิจ เป้าหมาย และกิจกรรมที่ทำในการบริการ เป็นต้นว่า สถาบันวิทยบริการศูนย์สื่อการศึกษา ศูนย์เทคโนโลยีการศึกษา แหล่งวิทยาการเหล่านี้อันที่จริงก็คือ ศูนย์ทรัพยากรความรู้และประสบการณ์ของหน่วยงานที่รวบรวมแหล่งวิชาการในลักษณะต่างๆ ไว้บริการเพื่อการเรียนรู้ ที่สำคัญสถาบันการศึกษา การศึกษาจำเป็นต้องจัดแหล่งความรู้ไว้ให้มากพอในรูปของแหล่งวิทยบริการและมีรูปแบบหลากหลาย

เทคโนโลยีที่มีความสำคัญต่อแหล่งวิทยาการหรือเรียกให้เฉพาะลงมา ได้แก่ แหล่งวิทยบริการ ก็คือ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์กับเทคโนโลยีโทรคมนาคม ในขณะที่คอมพิวเตอร์ทำหน้าที่จัดหา จัดเก็บ สืบค้น และเรียกใช้ข้อมูลหรือเตรียมเผยแพร่ข่าวสารข้อมูล เทคโนโลยีโทรคมนาคมก็ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือให้ผู้รับบริการสามารถเข้าถึงข้อมูลที่อยู่ห่างไกล ตั้งแต่ต่างเมืองจนถึงระหว่างชาติ โดยอาศัยระบบการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ เช่น ระบบไปรษณีย์อิเลกทรอนิกซ์ โทรสาร ระบบโทรศัพท์ ระบบสื่อสารดาวเทียม

และเครือข่ายต่างๆ หรือจัดเป็นรูปแบบการประชุมทางไกล ระบบปฏิสัมพันธ์ทางวิทยุกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เป็นต้น

สิ่งที่เป็นบทบาทอันท้าทายของครูในอนาคตหรือครูยุคสารสนเทศ ก็คือ การสอนวิธีหาความรู้ ในโลกแห่งความรู้อันมากมายสุด

คณานับ เหลือคณานับที่ครูไหนก็ไม่อาจตามไปหรือเอามาสอนได้หมด ครูยุคนี้ต้องเป็นทั้งผู้ให้ความรู้ ผู้ให้เครื่องมือในการแสวงหาความรู้ และผู้จุดไฟแห่งการเรียนรู้ และนอกจากภารกิจสำคัญนี้แล้ว เขาจะต้องมีคุณสมบัติในการเป็น

นักเทคโนโลยีสารนิเทศไปในตัว ต้องเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ ต้องติดตามความก้าวหน้าในเทคนิควิธีการสอนต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญสื่อ และต้องเป็นนักจิตวิทยาการเรียนรู้ชั้นเลิศ ข้อสุดท้ายนี้เป็นคุณสมบัติที่มีความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับครูหรือผู้ใช้ระบบการเรียนการสอน หรือแม้แต่นักออกแบบ เพราะเกรงว่าถ้าไม่มีข้อนี้ในการศึกษาการเรียน

การสอน บุคคลดังกล่าวอาจ ”เล่นเพลิน” หรือให้ความสำคัญแก่เทคโนโลยีประเภทสื่อหรือเครื่องมือสมัยใหม่เสียจนลืมนึกถึงผู้เรียนหรือผู้รับสาร ไม่ว่าเขาในฐานะที่เป็นคนๆ หนึ่งจะเรียนรู้อะไรได้อย่างไร และเรียนรู้อย่างเป็นสุขได้อย่างไร

นอกจากนั้นการเรียนการสอนยังมุ่งมาสู่แนวคิดของการศึกษาตลอดชีวิตที่เน้นให้คนฉลาด รู้จักคิด รู้ความจริงของสภาพแวดล้อมและสังคม มีความกระตือรือร้นที่จะแสวงหาความรู้ใหม่ๆ เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ พัฒนาการงาน และคุณภาพชีวิตของตนเอง

รูปแบบของระบบการศึกษาจึงน่าจะเป็นระบบของ “กระบวนการตลอดชีวิต” เป็นการศึกษาที่ให้ซึ่ง “วิธีการเรียนรู้” และให้ทั้ง “ความสุข” ในการเรียนรู้

ในยุคสารสนเทศ การเรียนด้วยตนเองแบบสบายๆ ง่ายๆ อยู่กับบ้าน พร้อมที่จะโต้ตอบทางไกลกับผู้สอน หรือครูผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคม เครือข่ายคอมพิวเตอร์ รวมทั้งเรียนกับสื่อสำเร็จรูปต่างๆ กำลังจากกลายเป็นเรื่องธรรมดาเข้าไปทุกที ในไม่ช้าเราอาจได้เห็นตลาดประเภท “ตลาดวิชาอิเลกทรอนิกส์” เห็น “ห้างสรรพวิทยากร” หรือ “ร้านอาหารสมอง” หรือ “สวนอาหารความคิด”

เกิดขึ้น ให้คนเข้าไปซื้อหาสินค้าประเภทความรู้หรือวิชาการเอาไปเรียนเองที่บ้าน

ปัจจุบันการเรียนการสอนหลายสาขา เช่น แพทย์ศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ ได้มีการนำเอาโปรแกรมคอมพิวเตอร์มัลติมีเดียมาใช้ช่วยสอนอันอย่างเอาจริงเอาจัง เป็นเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่ออิเลกทรอนิกส์ที่นำไปสู่รูปแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง

แนวโน้มทำนองนี้ ย่อมมีความเป็นไปได้อย่างแน่นอน เพราะเป็นห้วงเวลาอันเหมาะเจาะหรือที่ “พลังข่าวสาร” กับ
“พลังเทคโนโลยี” อุบัติขึ้นมาเกื้อกูลกันพอดี บวกกับแนวคิดทางการศึกษาตลอดชีวิต การแสวงหาความรู้ การเรียนวิธีที่จะเรียนรู้ การเรียนด้วยตนและอื่น ๆ อีกหลายอย่าง จึงเกิดเป็นเครือข่ายแห่งการเรียนรู้ หรือระบบการศึกษาควบคู่กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ สังคมกลายเป็นเครือข่ายแห่งการเรียนรู้ ทุกคนในสังคมเช่นนี้ ย่อมมีโอกาสทัดเทียมกันในการแสวงหาการศึกษาเพื่อพัฒนาตนเองตลอดชีวิต เครือข่ายเช่นนี้ สามารถกระตุ้นการเรียนรู้ของบุคคลและชุมชน และสามารถนำการศึกษาและข้อมูลข่าวสารเข้าไปถึงผู้คนของทุกท้องถิ่น และช่วย “จุดประกายใฝ่รู้ ให้แก่เขาเหล่านั้น”

© 2016 created by Ms.Praewpun Petprom Burapha University, Chonburi, Thailand

bottom of page